สำรวจ Product Portfolio “เลย์” ในไทย และ Top 3 รสชาติยอดนิยม
ปัจจุบัน Product Portfolio “เลย์” ในประเทศไทย ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ นะคะ ได้แก่
1. เลย์ ต้นตำรับ แบ่งเป็น “เลย์ ร็อค” แผ่นหยัก และ “เลย์ คลาสสิค” แผ่นเรียบ มีกลุ่มเป้าหมายกว้าง ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย
2. เลย์ สแตคส์ (Lay’s Stax) มันฝรั่งแผ่นเรียบเท่ากับทุกแผ่น บรรจุทั้งในรูปแบบกระป๋อง และถุง กลุ่มเป้าหมายหลักอายุ 15 – 35 ปี
3. เลย์ แมกซ์ (Lay’s MAX) มันฝรั่งแผ่นหยัก รสชาติเข้มข้น จัดจ้าน มีทั้งแบบถุง และกระป๋อง กลุ่มเป้าหมายหลัก Gen Z อายุ 20 – 30 ปี และคนที่ Young at heart
ปัจจุบันเลย์ในประเทศไทย มีรสชาติที่วางจำหน่ายถาวร ประมาณ 8 – 10 รสชาติ โดยรสชาติที่ได้รับความนิยมตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี มี 3 รสชาติหลักคือ
– เลย์ รสดั้งเดิมสีเหลือง
– เลย์ โนริสาหร่าย
– เลย์ บาร์บีคิว
ควบคู่กับการออกรสชาติใหม่ที่เป็น Seasoning Flavor เพื่อสร้างความตื่นเต้น ความแปลกใหม่ให้กับแบรนด์เลย์ และผู้บริโภค อย่างเมื่อปีที่แล้ว มีรสชาติใหม่ประมาณ 5 – 6 รสชาติ ซึ่งความถี่ในการออกสินค้าใหม่ ขึ้นอยู่กับผลวิจัย และสถานการณ์ทางการตลาดของแต่ละปีนั่นเองค่ะ
เส้นทางกว่าจะมาเป็นเลย์ รสชาติใหม่ในไทยนั้น เริ่มต้นจาก “ผู้บริโภค” ก่อนเสมอนะคะ โดยจะเกิดจากการทำวิจัย เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ว่ามีพฤติกรรม มีไลฟ์สไตล์ หรือการใช้ชีวิตอย่างไร หรือมีความต้องการแบบไหน มีเทรนด์อะไรที่กลุ่มเป้าหมายเซ็กเมนต์นั้นๆ อยากได้ อยากลอง และเทรนด์รสชาติ เพื่อนำ Insights เหล่านี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมองหา โดยที่แต่ละรสชาติ ต้องมีคาแรคเตอร์ หรือเอกลักษณ์เฉพาะนั่นเองค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น “เลย์ แมกซ์” Sub-brand ที่โฟกัสทาร์เก็ตกลุ่มวัยรุ่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เลย์ แมกซ์ ยิ่งหยัก…ยิ่งมันส์” ดังนั้นแนวทางการพัฒนารสชาติเน้นความเข้มข้น และจัดจ้าน ทั้งสีสัน และรสชาติที่มากกว่าเลย์ปกตินั่นเองค่ะ
ทางกลุ่มธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยวของเป๊ปซี่-โคล่า ประเทศไทย ทำวิจัยผู้บริโภคไทยกลุ่ม Gen Z พบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้นั้น มองหาความแปลกใหม่ในชีวิต ความตื่นเต้น และการแสดงออกถึงตัวตน พร้อมทั้งได้ศึกษารสชาติที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ชอบ หรืออยากลอง ในที่สุดได้ออกมาเป็น 3 รสชาติใหม่ ได้แก่
– รสพริกปีศาจ จากการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคอยากลองกินเผ็ดแบบสุดๆ เผ็ดแบบสะใจ ทางฝ่าย R&D จึงได้พัฒนาเป็นรสนี้ขึ้นมา
– รสบาร์บีคิว พริกแซ่บซี้ด ด้วยความที่รสบาร์บีคิว เป็นรสขายดีของเลย์อยู่แล้ว จึงได้นำมาสร้างเป็นรสชาติใหม่ โดยเติมความเผ็ดของพริกเข้าไป แต่ไม่เท่ากับรสพริกปีศาจ เพื่อตอบความต้องการของคนที่ชื่นชอบทั้งรสบาร์บีคิว และรสเผ็ด
– รสกูร์เมต์ ซาวครีมและหัวหอม ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชอบรสชาติเปรี้ยวหวานของซาวครีมและหัวหอม
สำหรับ “เลย์ แมกซ์ “ มีในต่างประเทศ แต่สินค้าจะไม่เหมือนกับ “เลย์ แมกซ์ “ ในไทยนะคะ โดยในต่างประเทศจะเป็นมันฝรั่งแผ่นหยักร่องลึก มีความกรอบ และความแข็งแตกต่างจากที่ขายในไทยเลยค่ะ เพราะผลิตภัณฑ์ของเลย์ ไม่ได้เป็น One Size Fit All ที่ขายในประเทศอื่น แล้วยกมาขายในไทยเลย แต่ เลย์ รู้ว่าในแต่ละประเทศคนชอบกินมันฝรั่งแบบไหน รสชาติอะไร
สำหรับ เลย์ แมกซ์ ในไทย เป็นการปรับรูปแบบมันฝรั่ง และทั้ง 3 รสชาติ เลย์ ทำการวิจัย และทดสอบ โดยเอาผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ทำให้ทั้ง 3 รสชาติมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน และแสดงถึงสิ่งที่ผู้บริโภคมองหานั่นเองค่ะ
นอกจากเลย์ แมกซ์ ที่ผ่านมา “เลย์” นำเมนูอาหารไทยยอดนิยม มาพัฒนาเป็นรสชาติใหม่ เช่น เลย์ Thai Taste รสต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน พริกเผ็ดซี๊ด ปูผัดผงกะหรี่ และจับมือกับเซเว่น อีเลฟเว่น ทำรสกะเพราไก่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูอาหารพร้อมรับประทานที่ขายดีของเซเว่น อีเลฟเว่นอีกด้วยนะคะ
หรือในช่วงต้นปี 2564 ก็ได้นำ Consumer Insights คนไทยชอบกินสตรีทฟู้ด ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน มาเป็นคอนเซ็ปต์พัฒนาสินค้าใหม่ “เลย์ชวนฟินกินสตรีทฟู้ด” นำเมนูสตรีทฟู้ดที่คนไทยชอบ มาเป็นรสชาติใหม่ของเลย์ เริ่มด้วยกลิ่นแจ่วฮ้อนหม้อไฟ และ รสมะนาวแซ่บซี๊ดนั่นเองค่ะ
ความน่าสนใจของสินค้าใหม่นี้ นอกจากวางขายทั่วประเทศแล้ว ด้านการตลาดยัง Hyper Localize ในระดับภูมิภาค ด้วยการเจาะกลุ่มผู้บริโภคอีสานอย่างเข้มข้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา เพราะด้วยรสชาติใหม่ ที่เป็นเมนูอาหารอีสาน และอีสานเป็นตลาดใหญ่ที่มีศัยกภาพสูงเลยทีเดียวนะคะ โดยมีโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ที่สื่อสารกับผู้บริโภคชาวอีสานโดยเฉพาะอีกด้วยนะคะ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนารสชาติใหม่ นอกจากศึกษาวิจัยจากผู้บริโภค และทิศทางตลาดแล้ว แต่ละรสชาติที่พัฒนาขึ้น ต้องศึกษาด้วยว่ารสชาตินั้น จะไปได้ดีกับมันฝรั่งอบกรอบรูปแบบไหน จะเป็นแผ่นหยัก แผ่นเรียบ หรือแบบเลย์ สแตคส์ เนื่องจากมันฝรั่งรูปแบบต่างกัน ก็ให้ Texture ที่แตกต่างกันด้วยนั่นเองค่ะ
เลย์ มีทั้งแผ่นเรียบ และแผ่นหยัก รูปแบบแผ่นมันฝรั่งอบกรอบแต่ละประเภทไม่เหมือนกันนะคะ รสชาติเข้มข้น พอไปอยู่กับแผ่นหยัก ทำให้ดึงความเข้มข้นออกมาได้มากกว่า ในขณะที่บางรสชาติอยู่กับแผ่นเรียบ ทำให้ได้ความกลมกล่อมมากกว่านั่นเองค่ะ ซึ่งเลย์จะต้องเอาไป Test กับผู้บริโภค จนกว่าจะมั่นใจว่ารสชาตินั้นๆ มีความลงตัวทั้งรสชาติ และ Texture รูปแบบแผ่นมันฝรั่งว่าจะเป็นแผ่นเรียบ หรือแผ่นหยัก หรือสามารถไปได้ดีกับทั้งสองแบบค่ะ…