สายพันธุ์มันฝรั่งที่ “เลย์” ใช้ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบ

นับเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีแล้วที่เลย์เข้าครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 75% หรือ 3 ใน 4 ของตลาดขนมขบเคี้ยวเลยนะคะ ซึ่งตลาดขนมขบเคี้ยวในไทยนั้นมีมูลค่ามากถึง 3.6 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียวค่ะ นอกจากนี้ เลย์ยังเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดมันฝรั่งทอดกรอบอีกด้วยนะคะ

 

 

แต่รู้หรือไม่คะ ว่ากว่าจะออกมาเป็นมันฝรั่งทอดกรอบแผ่นๆให้เราได้ชิ้มลองกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะคะ เริ่มตั้งแต่ความท้าทายในการปลูกมันฝรั่งกันเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น ตั้งแต่ 14-18 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืน และ 24-26 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน ดังนั้นในไทยจึงปลูกได้แค่เฉพาะในบริเวณภาคเหนือ และบางส่วนของภาคอีสานเท่านั้นค่ะ และนอกจากสภาพอากาศแล้ว ยังต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์มันฝรั่งอีกด้วย เพราะมันฝรั่งที่สามารถนำมาทอดกรอบได้ จะต้องเป็นสายพันธุ์โรงงานเท่านั้นค่ะ

 

 

ส่วนฤดูกาลในการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย โดยหลักๆ จะเป็นช่วงฤดูแล้ง คือตั้งแต่เดือน พ.ย.- ธ.ค. และเก็บเกี่ยวในเดือน ก.พ. – มี.ค. ส่วนฤดูรองจะเป็นช่วง พ.ค. – ก.ค. และเก็บเกี่ยวในเดือน ส.ค. – ต.ค. ของทุกปีนั่นเองค่ะ

 

 

ในกระบวนการปลูกมันฝรั่งนั้น เกษตรกรจะต้องใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่เริ่มเตรียมไถหน้าดิน เอาหัวเมล็ดพันธุ์ลงดิน การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น การขุดร่องน้ำ การทำระบบน้ำหยด เพื่อให้ได้มันฝรั่งที่คุณภาพดี ในระยะเวลาประมาณ 90 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวและส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูปนะคะ

 

 

มันฝรั่งจัดเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยก็ว่าได้นะคะ โดยในแต่ละปี ตลาดมันฝรั่งแปรรูปมีความต้องการมันฝรั่งถึง 1.5 แสนตัน และภาคเกษตรกรรมของไทยก็สามารถปลูกมันฝรั่งได้มากถึงปีละ 1 แสนตัน คิดเป็น 75% ของทั้งหมด นั่นทำให้มันฝรั่งกลายเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้เกษตรกรไทยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวนะคะ

ในทุกๆ ปี เลย์จะมีการรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นตัน และยังส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกมันฝรั่งกว่า 3,500 ราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 22,000 ไร่ ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก รวมถึงอีก 2 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ สกลนคร และนครพนมนั่นเองค่ะ

 

 

ปัจจุบันเลย์มีฐานการผลิตมันฝรั่งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และโรงงานที่จังหวัดลำพูน โดยกว่าจะออกมาเป็นเลย์แต่ละซองที่เราได้ทานกันนั้น หลังจากเก็บมันฝรั่งมาจากไร่แล้ว จะต้องผ่านอีกประมาณ 10 ขั้นตอนก่อนจะส่งออกไปยังร้านค้าปลีก-ส่ง และห้างสรรพสินค้านะคะ

การปลูกมันฝรั่งเพื่อป้อนเข้าโรงงานนั้น จะแตกต่างจากการปลูกมันฝรั่งเพื่อเป็นหัวพันธุ์ ที่“ขนาด” โดยการปลูกมันฝรั่งเพื่อป้อนเข้าโรงงานมันฝรั่งทอดกรอบนั้น จะปลูกเป็นพันธุ์ที่ใช้ทำอาหารทั่วไป หลากหลายพันธุ์ ขนาดที่ได้ จะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 4 เซนติเมตรครึ่ง ถึง 9 เซนติเมตรครึ่ง ถึงจะรับซื้อได้ในราคากิโลกรัมละ 10.60 – 14 บาท ซึ่งถือเป็นราคาประกันที่สูงกว่าราคาประกันขั้นต่ำที่รับบาลกำหนด

แต่หากเป็นหัวพันธุ์มันฝรั่งที่เลย์ใช้ในการผลิตมันฝรั่งทอดกรอบนั้น จะเป็นพันธุ์แอตแลนติก และพันธุ์ FL2215 กับ FL2207 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่คิดค้นและวิจัยโดยเลย์นั่นเองค่ะ โดยจะมีปริมาณแป้งสูง ต้านทานโรค เมื่อปลูกได้ตามขนาดที่ต้องการแล้ว ราคาประกันที่เลย์ให้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 21 บาท จะได้หัวพันธุ์ประมาณ 15 หัว ซึ่งเป็นปริมาณที่ดีเลยค่ะ

 

 

ส่วนอุปสรรคในการปลูกหัวพันธุ์มันฝรั่ง ก็เหมือนกับการปลูกพืชทั่วๆไป เช่นเรื่องของโรค เรื่องของแมลง แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งเลยคือ สภาพอากาศ เพราะมันฝรั่งเป็นพืชเมืองหนาว ยิ่งหนาวผลผลิตก็ยิ่งดี แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน จึงปลูกได้เฉพาะภาคเหนือ แต่ก็ใช่ว่าอากาศมันจะเป็นแบบเดิมทุกปี บางปีฝนตกหน้าหนาว ผลผลิตก็ไม่ได้คุณภาพ ราคาตก หรือไม่ก็นำไปขายเป็นอาหารให้วัวนมก็มีค่ะ

 

 

โดย คุณบุญศรี ใจเป็ง วัย 68 ปี เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของรางวัล “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2553” กล่าวว่า “ผมลงทุนไปประมาณ 30,000 – 35,000 บาทต่อไร่ เมื่อปลูกหัวพันธุ์ส่ง หักต้นทุนแล้ว กำไรอยู่ที่หลักหมื่นบาทต่อไร่ แต่หากเป็นการปลูกเพื่อส่งโรงงานอาจจะลดหลั่นลงมาเหลือทุนที่ 24,000 – 30,000 บาท กำไรก็จะได้ประมาณ 8,000 – 14,000 บาทต่อไร่” กันเลยนะคะ

 

 

สรุปก็คือ เลย์จะใช้มันฝรั่งสายพันธุ์ แอตแลนติก และพันธุ์ FL2215 กับ FL2207 ในการผลิตมันฝรั่งทอดกรอบนะคะ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่คิดค้นและวิจัยโดยเลย์นั่นเองค่ะ…